วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติ บ้านทองอยู่






โดย ถาวภักดิ์ ตียาภรณ์
บ้านทองอยู่ถูกสร้างขึ้นแทนที่ห้องแถวไม้เดิมโดยคุณปู่ทองอยู่ ตียาภรณ์เพื่อรองรับครอบครัวที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แล้วเสร็จและเข้าอยู่ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ปลายรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๗ ขณะที่พระราชอาณาจักรยังอยู่ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเจ้าหลวงพระองค์สุดท้ายของนครเชียงใหม่ เจ้าแก้วนวรัฐยังทรงพระชนม์อยู่ ทั้งได้ประทานพระสาทิสลักษณ์พร้อมพระลิขิตระบุมอบให้แก่คุณปู่ทองอยู่และคุณย่ากิมเหรียญ เนื่องในวาระขึ้นบ้านใหม่

คุณอาตระการ ตียาภรณ์ ลูกคนที่ ๔ ของคุณปู่เล่าว่า ครั้งวัยเด็ก บ้านเพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่ปี ตัวบ้านกว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมาก มียกพื้นชานเรือนแผ่ออกไปต่อเชื่อมกับห้องต่างๆ กินพื้นที่กว่าสองถึงสามเท่าของตัวบ้านไม้ที่เห็นปรากฏในปัจจุบัน เช่นเดียวกับแม่น้ำปิงที่กว้างถึงหน้าคุ้มเจ้าหลวงที่ฝั่งโน้นและเกือบจรดบันไดลงเรือนหลังบ้านที่ฝั่งนี้ โดยมีเกาะกลางน้ำเป็นสมรภูมิระหว่างจิ๊กโก๋คุ้มเจ้าหลวง กับจิ๊กโก๋วัดเกต นำโดยคุณอาตระการเอง(ฉายาอ้ายยักษ์) ที่หลังจากตะโกนท้าทายกันจนได้ที่แล้ว ต่างฝ่ายก็จะว่ายน้ำไปตกลงด้วยกำลัง ณ เกาะกลางนี้เป็นกิจวัตร

หนึ่งในเพื่อนสนิทในวัยเรียนของคุณอาตระการที่ชอบมากินนอนขลุกอยู่ที่บ้านนี้เป็นประจำระหว่างปิดภาคเรียน คือ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ อดีตราชเลขาธิการ

ครั้งหนึ่งในวัยเด็กของข้าพเจ้า ผู้เป็นเจ้าของบ้านในปัจจุบัน ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ ระหว่างปิดเทอมใหญ่ในหน้าแล้ง คุณพ่ออารักษ์พามากราบเยี่ยมคุณปู่และได้พาลงเล่นน้ำปิงหลังบ้านที่ยังใสไหลเย็นน่าดำผุดดำว่าย ท้องน้ำเต็มไปด้วยหินแม่น้ำมนกลม ลื่นเท้า ไม่มีอันตราย

คุณปู่ทองอยู่สืบทอดความเป็นพ่อค้าเชื้อสายจีนจากบรรพบุรุษตระกูลแซ่เตีย ที่ไม่ค่อยใช้วัฒนธรรมประเพณีแบบจีนสักเท่าใดแล้ว นอกจากเพื่อความสะดวกในการค้า เช่นการใช้ยี่ห้อและป้ายชื่อกิจการแบบจีนว่า”หย่งเชียง”(ที่ยังคงแขวนไว้เหนือประตูหน้า) คุณปู่กลับดูเป็นชาวล้านนาที่ทันสมัยมากกว่า ดังเห็นได้จากรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของบ้านที่ผสมผสานทั้ง ๓ วัฒนธรรม เช่น การลบมุมเสาตามหลักฮวงจุ้ยแบบจีน ฝาไหลกับหน้าต่างเตี้ยสำหรับผู้นิยมนั่งพื้นในแบบล้านนาดั้งเดิมในชั้นบน แต่รูปทรงบ้าน ๒ ชั้นและหน้าต่างสูงสำหรับการนั่งเก้าอี้ในชั้นล่างพร้อมเคาเตอร์แบบฝรั่ง แสดงความเป็นบ้านแบบตะวันตกอยู่ไม่น้อย การผสมผสานนี้ลงตัวกับนิสัยการรับประทานของคุณปู่ที่ชอบทานอาหารเช้าแบบฝรั่ง(มีตัวอย่างกล่องเนยกระป๋องจากยุคนั้นให้เห็นอยู่) อาหารกลางวันในแบบล้านนา และอาหารเย็นเป็นข้าวต้มแบบชาวจีน

คุณพ่อของคุณปู่มีชื่อเป็นทางการตามประเพณีจีนอย่างหรูหราว่า จินกี กีเซ็งเฮง ดังจารึกไว้ที่กู่บรรจุอัฐิขนาดใหญ่ที่วัดฝายหิน ท่านเป็นบุตรของเล่าก๋งเตียบู๊เซ้ง ผู้นำชุมชนพ่อค้าจีน ณ เวลานั้นซึ่งอยู่ในรัชสมัยของแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง เล่าก๋งเตียบู๊เซ้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนักเชียงใหม่ ดังจะเห็นได้จากลูกสะใภ้ที่เป็นบุตรีของพญาแสนภักดี ต้นตระกูลภักดี และเจ้าหม่อนสีมอย เจ้านายฝ่ายเหนือผู้เป็นที่เคารพนับถือของชุมชนชาวเชียงแสน ด้วยเหตุนี้เล่าก๋งเตียบู๊เซ้งจึงสนิทสนมกับพญาผาบ แม่ทัพเชียงใหม่ผู้นำกบฏต่อต้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเชียงใหม่จากที่เป็นประเทศราช มีอำนาจปกครองตนเอง มาเป็นมณฑลพายับอันเป็นการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง เป็นเหตุให้ชุมชนวัดเกตและเมืองเชียงใหม่ถูกทิ้งเกือบร้างจากความกลัวภัยสงครามและกองทัพของพญาผาบ หากเล่าก๋งเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ยอมอพยพ ด้วยถือว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนักเชียงใหม่และพญาผาบ แสดงถึงความเป็นเสาหลักของชุมชนของเล่าก๋งบู๊เซ้ง


ย่าทวดบัวจี๋ คุณแม่ของคุณปู่ บุตรีเจ้าหม่อนสีมอย มีน้องสาวชื่อย่าทวดขันแก้วซึ่งมีลูกสาว ๓ กับสามีชาวสก๊อต ลูกคนกลางหรือป้ากลาง(คอนนี่ มังสเกา) เป็นยายของดาราสาวชื่อดัง ลินดา ครอส ในขณะที่ป้ากลางมีชีวประวัติอันลึกลับ โลดโผน ด้วยเคยทำหน้าที่เป็นสายลับให้รัฐบาลไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเคยถูกทหารญี่ปุ่นจับไปสอบสวนระหว่างปฏิบัติภารกิจในไซง่อน ถูกกักกันไว้ถึง ๓ วัน กว่ารัฐบาลไทยจะสามารถประสานให้ปล่อยตัวได้ ท่านมีความสนิทสนมกับจิม ทอมสันผู้โด่งดัง หนึ่งในผู้ก่อตั้งเครือข่ายสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาที่กลายมาเป็นซีไอเอในปัจจุบัน ป้ากลางได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ที่จิม ทอมสันหายตัวที่คาเมรอนไฮแลนด์ของมาเลเซียด้วย

คุณปู่สนับสนุนให้ลูกๆเรียนดีที่สุดและสูงที่สุด สี่ท่านจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สองในสี่จบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา ลูกๆของคุณปู่อาจเรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ ด้วยความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและสถานะทางสังคม เช่นดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบดีกรมเจ้าท่า และรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

บ้านทองอยู่จึงเป็นทั้งหลักฐานและชิ้นส่วนที่ยังมีชีวิตของประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่ในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่จะคงอยู่ต่อไปเพื่อความภาคภูมิร่วมกันมิใช่เพียงแต่ของเหล่าสมาชิกในสกุลตียาภรณ์ หรือชุมชนวัดเกตแห่งนี้เท่านั้น หากเป็นของชาวเชียงใหม่ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น: