วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11135 มติชนรายวัน
โดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย
วัดหนึ่งใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่มีความเป็นมายาวนานนับได้หลายร้อยปี คือ วัดเกตการาม จำเพาะเจาะจงที่ตั้งอีกสักนิด ..วัดเกตการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า "วัดเกต" ตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์-ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง
ปรากฏหลักฐานว่า วัดเกตสร้างตั้งแต่ พ.ศ.1971 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย เล่าต่อกันมาว่าครั้งหนึ่ง พระเจ้าบุเรงนองของพม่า ทรงศรัทธาวัดนี้ จึงทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และนำสิ่งของต่างๆ มาถวายวัด
ภายในวัดมี "พระธาตุเกตแก้วจุฬามณี" เป็นเจดีย์ทรงกลม สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ไว้ประดิษฐานพระเกศาธาตุ เป็นที่กราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่เป็นพิเศษสำหรับผู้ที่เกิดปีจอ เพราะเชื่อกันสืบมาว่าพระธาตุเกตแก้วจุฬามณีเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีจอ
กลางเดือนสิงหาคม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พาขึ้นเหนือตระเวนเชียงใหม่ แวะไหว้พระธาตุเกตแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม ใกล้กับพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี เป็นอาคารไม้หลังหนึ่ง.. เข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นว่าเป็น พิพิธภัณฑ์วัดเกต
อาคารนี้มีอายุกว่า 100 ปี สร้างและบูรณะโดยลูกหลานคนจีนบ้านวัดเกต ด้านหน้าอาคารเป็นไม้ระแนงโปร่ง มีลูกไม้ชายคา มีไม้กลึง (เคี่ยนปุ้นลม) ที่หน้าจั่ว เดิมเป็นกุฏิของพระครูชัยศีลวิมล (เมืองใจ ธัมโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกต ชาวบ้านย่านวัดเกตเรียกติดปากว่า "โฮงตุ๊เจ้าหลวงเก่า" (กุฏิของเจ้าอาวาสรูปเก่า) พระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์วัดเกต
ถึงปี 2543 จรินทร์ เบน หรือ "ลุงแจ๊ก" ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ชาวบ้านวัดเกต จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับคณะสงฆ์ และคณะศรัทธาชาวบ้านวัดเกต ทำการบูรณะกุฏิให้เป็นพิพิธภัณฑ์
เริ่มปรับปรุงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2542 ด้วยวัตถุประสงค์ที่ว่า การพัฒนาและการอนุรักษ์ต้องไปด้วยกันอย่างละครึ่ง จะอนุรักษ์อย่างเดียวไม่ได้ "แรกๆ ลำบากมาก ไม่มีทุนเลย บางครั้งถึงขั้นที่ทางวัดเคยเอาฝาโลงมาต่อเป็นชั้นตู้เพื่อวางของ ดีที่ชาวบ้านย่านวัดเกตร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นชุมชนเข้มแข็ง ด้วยใจที่อยากรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใครที่มีเงินก็ช่วยเงิน หรือเอาของมาให้ ใครไม่มีเงินก็มาช่วยลงแรง" ลุงแจ๊กที่ตอนนี้อายุ 87 ปี แต่ยังกระฉับกระเฉงแข็งแรงดี เริ่มต้นเรื่อง
แรกเปิดใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์วัดสระเกษ" เพื่อระลึกถึงชื่อหนึ่งของวัดเกต แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑ์วัดเกต" ตามชื่อของวัดในปัจจุบัน ก้าวขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์ จะเห็นพระพุทธรูปศิลปะพม่าประดิษฐานอยู่ทางขวา ส่วนทางซ้ายเป็นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน อาทิ ตะเกียง กาต้มน้ำ ฯลฯ วางเรียงอยู่บนชั้น
เข้าไปด้านในแล้ว แบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ส่วน เดินทะลุถึงกันได้หมด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอายุนับร้อยปี เป็นที่เก็บตาลปัตร เศียรพญานาคปูนปั้น ซึ่งเป็นสมบัติของวัด และเป็นที่เก็บสิ่งของที่ชาวบ้านย่านวัดเกตนำมามอบให้ ไม่ว่าจะเป็นลุงแจ๊กเอง หรือชาวบ้านคนอื่นๆ อย่าง ภาพถ่ายเก่า มีทั้งภาพเชียงใหม่ในอดีต ภาพคณะสงฆ์วัดเกตสมัยปี 2479
ยังมี หนังสือเก่า ธนบัตรเก่า เครื่องมือช่าง กำปั่นเหล็กสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้วยโถโอชาม ผ้าทอ ผ้าปักดิ้นเงิน ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ธงมังกรพื้นแดง 2 คู่ เป็นคู่ใหญ่และคู่เล็กซึ่งนำเข้าจากเมืองจีน ไว้ใช้ในพิธีมงคล เช่น ผ้าป่า หรือ กฐิน นับรวมแล้วก็เป็นพันชิ้น
บางชิ้นจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก ขณะที่บางชิ้นจัดแสดงไว้ให้ชมอย่างใกล้ชิด "ที่นี่เป็นความร่วมมือร่วมใจระหว่างวัดกับชุมชน ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา เพราะถือว่าสิ่งของที่จัดแสดงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวบ้านย่านวัดเกต" ลุงแจ๊กบอกพร้อมรอยยิ้ม
ด้าน อนันต์ ฤทธิเดช วัย 58 กรรมการวัด และประธานพิพิธภัณฑ์วัดเกต เสริมรายละเอียดเรื่องสิ่งของภายในพิพิธภัณฑ์ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งของที่ชาวบ้านบริจาคมาให้สักราว 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นของวัด ทุกวันนี้ชาวบ้านก็นำของมาให้อยู่เรื่อยๆ
คนที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นั้น อนันต์บอกว่า ส่วนมากจะเป็นนักเรียน มากันเป็นกลุ่มๆ ทั้งที่มากันเองและโรงเรียนพามาชม นอกจากนั้นก็เป็นชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อยากเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ชุมชนเป็นอย่างไร และมีวิธีการเก็บรักษาสิ่งของเก่าแก่ให้คงสภาพดีไว้ได้อย่างไร
ผู้ที่คอยดูแลความเรียบร้อยของพิพิธภัณฑ์ นอกจากลุงแจ๊ก และอนันต์แล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่อายุ 10 กว่าปีไล่ไปจนถึง 20 กว่าปี ซึ่งเป็นชาวบ้านวัดเกต มาช่วยดูแลด้วย "ผมช่วยลุงแจ๊กดูแลที่นี่ 2 ระยะ ครั้งแรกสมัยยังหนุ่ม และห่างไปจนกระทั่งมาดูแลอีกครั้งเมื่อปี 2541 ได้ร่วมบริจาคสิ่งของให้ทางพิพิธภัณฑ์ด้วยเหมือนกัน ถึงไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของเราแล้ว แต่ก็ยังเห็นอยู่ คนอื่นก็ได้ชื่นชม "ถึงเราจะจากไปแล้ว แต่ของยังอยู่ให้ลูกหลานวัดเกตได้เห็น ได้ภูมิใจ..ได้รู้ว่าเอกลักษณ์และรากเหง้าของเราว่าเป็นอย่างไร" อนันต์ทิ้งท้าย
พิพิธภัณฑ์วัดเกต เปิดทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม แต่หากอยากช่วยเหลือและสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ ก็สามารถช่วยบริจาคเงินได้
มีโอกาสเที่ยวเชียงใหม่ ลองหาเวลาว่างแวะไปชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ก็น่าจะเข้าที
วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น